หน้าแรก » เกร็ดความรู้ทั่วไป » อาการและวิธีรักษาเมื่อโดนตะขาบกัด ทำอย่างไรให้หายปวด

อาการและวิธีรักษาเมื่อโดนตะขาบกัด ทำอย่างไรให้หายปวด

อาการและวิธีรักษาเมื่อโดนตะขาบกัด ทำอย่างไรให้หายปวด

เรื่องมันเริ่มขึ้นจากความซวยชนิดหาที่เปรียบไม่ได้ของผมเองนั่นแหละ วันนั้นเป็นวันที่อากาศเย็นสบายพื้นดินกำลังนุ่มและเย็นสบาย ผมตัดสินใจที่จะลงไปดูไก่ในเล้าใต้ถุนบ้านสักหน่อย ระหว่างที่กำลังเดินไปเดินมาหาไก่ผมรู้สึกถึงความเจ็บปวดแล่นแปล็บจากฝ่าเท้า พอยกขึ้นมาดูล่ะ โอ้เจ้าประคุณเอ๋ย! ตะขาบตัวเกือบเท่าฝ่าเท้ากำลังดิ้นไปมาเหมือนไส้เดือน เพียงแค่ว่าไส้เดือนตัวนี้มีขายุบยั่บและตัวเป็นปล้องแข็งนั่นแหละ แล้วตอนนี้มันเพิ่งจะกัดผมสดๆร้อนๆไปเองด้วย

ผมไม่เคยถูกตะขาบกัดมาก่อนในชีวิตและไม่เคยหวังที่จะถูกด้วย แต่ในเมื่อตอนนี้ความซวยเข้ามาเยือนถึงฝ่าเท้าของผมแล้ว และดูท่าว่ามันกำลังจะเริ่มคืบคลานขึ้นไปเรื่อยๆบนขาข้างที่ถูกกัด ผมกัดฟันลากขาที่กำลังเริ่มปวดหนึบๆขึ้นไปบนบ้านเพื่อที่จะหาทางรักษาตัวเอง เมื่อถึงบนพื้นบ้านและรู้สึกว่าปลอดภัยดีแล้ว ผมจึงเริ่มตรวจตราแผลของผมดู พบว่ามีอาการดังนี้

  • มีรอยกัดสองรอยอยู่ตรงฝ่าเท้าของผม และตอนนี้มันกำลังเริ่มบวมเป่งและเจ็บอย่าบอกใครแล้วด้วย
  • นอกเหนือไปจากอาการบวมอย่างน่าตกใจนั่นแล้ว ผมเริ่มรู้สึกวิงเวียนศรีษะนิดหน่อย หวั่นๆอยู่เหมือนกันว่าจะมีอาการแพ้ตะขาบหรือเปล่า
  • ผมเคยอ่านมา เขาบอกว่าอาการที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ถูกกัดมีได้หลากหลายมาก นอกเหนือไปจากอาการ “พื้นๆ” ที่ผมมีแล้ว ผู้ที่ถูกกัดสามารถที่จะมีอาการแบบลมพิษ (แสดงว่าอาจแพ้พิษของแมลงนั้นๆ) ผื่นไปทั้งตัว หรือในบางรายที่มีอาการรุนแรง จะมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ใจสั่น และบริเวณแผลที่ถูกกัดเน่า
  • ตอนนี้แผลของผมเริ่มคันแล้ว

ศูนย์อนามัยที่ใกล้ที่สุดกับบ้านของผม ใช้เวลาเดินเท้าร่วม 20 นาทีได้ วิธีการที่ดีที่สุดที่ผมจะทำในตอนนี้ได้คือ ต้องหาทางเยียวยาแผลด้วยตัวเองก่อน ผมเริ่มคิดถึง การปฐมพยาบาลขั้นพื้นฐานเมื่อถูกแมลงกัดต่อย แล้วผมก็เริ่มจัดการกับตัวเองด้วยวิธีรักษาตะขาบกัด ดังนี้

  1. พยายามห้อยส่วนบริเวณที่ถูกกัดให้อยู่ระดับต่ำ หรือใช้สายรัดเหนือรอยแผล เพื่อกันพิษของตะขาบกระจายเข้าสู่ร่างกาย
  2. จัดการล้างแผลในบริเวณที่โดนกัด (ซึ่งตอนนี้กำลังเริ่มกลายเป็นสีม่วงแล้ว) ด้วยน้ำเปล่ากับสบู่ จากความรู้ขั้นพื้นฐานของผมคือไม่ควรที่จะใช้แอกอลฮอล์ โปะเข้าไปโดยตรงเพราะมันสามารถที่จะทำปฏิกริยาที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แย่กว่าเดิมได้ (นี่คือแผลแมลงกัด ไม่ใช่แผลที่เกิดจากการบาดเจ็บทั่วๆไป)
  3. เอาน้ำแข็งที่แช่เอาไว้ในนั้นมาห่อผ้าและโปะลงไปบนแผลของผม แล้วกดค้างเอาไว้สัก 10นาทีได้ ก่อนที่จะเอาน้ำแข็งออกอีก 10 นาที ก่อนที่จะทำซ้ำวนกันไปเรื่อยๆจนกระทั่งผมรู้สึกหายปวดเรียบร้อยแล้ว
  4. ถึงตอนนี้แผลกัดที่เท้าของผมดู……ดีขึ้นมากกว่าเมื่อเกือบชั่วโมงที่แล้วอย่างมาก ดูม่วงนิดหน่อยแต่ความปวดเหลือเพียงแค่หนึบๆ ผมจึงตัดสินใจกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล แล้วนอนพัก ตั้งใจไว้ว่าถ้าอาการมันไม่ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างน้อยผมก็น่าจะมีแรงพอที่จะพาตัวเองไปที่ศูนย์อนามัย เพื่อให้แพทย์ที่นั่นเขาช่วยดูอาการให้ผมแหละ

โดยทั่วไปอาการตะขาบกัดเมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องแล้วจะหายได้ภายใน 1-2 วัน แต่ถ้าแพ้มากอาจใช้เวลานานกว่านี้แล้วแต่บุคคล ท้ายสุดแล้ว บทเรียนที่สำคัญที่สุด(นอกเหนือไปจากการเดินเท้าเปล่าแล้ว) คือการที่พวกเราควรจะตั้งสติเอาไว้ให้ดีเมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆขึ้นก็ตาม

ติดตามเกร็ดความรู้ใหม่ๆ เรื่องน่ารู้รอบโลก บน Facebook คลิกที่นี่!!
เกร็ดความรู้.com มี LINE แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวน่ารู้ สดใหม่ทุกวันผ่าน LINE ID @yip7695q
เพิ่มเพื่อน

สาระน่ารู้

การเตรียมตัวก่อนบวช มีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไรบ้าง

การบวชนั้นเป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ของผู้ที่อยู่ในศาสนาพุทธพึงกระทำ เพราะการบวชหมายถึงการชำระล้างจิตใจ และการอุทิศตนเพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนต่างๆ ของพระพุทธเจ้า ตลอดจนเป็นการทดแทนพระคุณของบิดามารดาอีกด้วย ดังนั้นในช่วงชีวิตหนึ่งของลูกผู้ชายไทยนั้น ต้องหาโอกาสบวชเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ให้ได้ และสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะบวช วันนี้เรามีวิธีการเตรียมตัวมาฝากกัน 1. การท่องบทขานนาค โดยปกติก่อนการบวชนั้น ผู้ที่ตั้งใจจะบวชจำเป็นต้องท่องบทขานนาคให้ได้เพื่อที่ว่า ในวันบวชจริงนั้นเราจะต้องท่องบทสวดบทนี้นั่นเอง …

ขอเสียงคนรักการอ่านหน่อยจ้า รอโหลดคอมเม้นต์ด้านล่าง แล้วร่วมแสดงความคิดเห็นกับเพื่อนๆได้เลย!